พิธีวางพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

              เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2566 นางสาวอลงกรณ์ ตั้งสงวนธรรม เลขาธิการและกรรมการคณิตศาสตร์ พร้อมด้วยนางพันธุ์ทิพย์ ทิมสุกใส กรรมการวิทยาศาสตร์ และนางมาลินท์ อิทธิรส กรรมการคณิตศาสตร์ ได้เข้าร่วมพิธีวางพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” ประจำปี พ.ศ. 2566 ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

วันเทคโนโลยีของไทย วันที่ 19 ตุลาคม

          สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2453 เห็นชอบให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน และกิจกรรมเกี่ยวกับการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” มีการเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2544

          ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระวิสัยทัศน์และพระวิริยะอันสูงส่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงศึกษา ค้นคว้า วิจัย ได้ทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ประยุกต์ใช้ให้เกิดผลงานและเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ ก่อกำเนิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ โครงการหลวง โครงการน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทน โครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก เป็นต้น ปวงชนชาวไทยต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเอื้ออาทรต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผลงานสำคัญอันเกิดจากพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านเทคโนโลยี มีดังนี้

          โครงการแกล้งดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการศึกษาวิจัยการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดขึ้น ณ ศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเคมีต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อดินเริ่มแห้งลง ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์ ทรงมีพระราชดำริว่า หากจำลองสภาพฤดูแล้งและฤดูฝนให้กับดิน โดยย่อระยะเวลาจากปีละ 1 รอบ เป็นปีละหลาย ๆ รอบ ก็จะเท่ากับเป็นการเร่งดินให้เป็นกรดเร็วขึ้น แล้วทำการตรวจสอบสภาพความเป็นกรดว่ารุนแรงหรือไม่ โดยการนำดินไปวิเคราะห์ ด้วยการปลูกพืชเพื่อทดสอบว่าพืชยังคงขึ้นได้หรือตายในทันทีหลังจากปลูก ทรงตั้งชื่อการศึกษานี้ว่า “โครงการแกล้งดิน” เมื่อดินเป็นกรดจัดรุนแรงที่สุดแล้ว จึงค่อยเริ่มทำการศึกษาต่อเพื่อหาวิธีการสำหรับปรับปรุงดินนั้น ให้สามารถกลับนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ดี จากนั้นจึงรวบรวมเขียนเป็นตำราแก้ดินเปรี้ยว พร้อมนำวิธีการที่ได้ผลแล้วถ่ายทอดไปสู่พื้นที่จริง เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรปลูกข้าวและพืชผลได้อีกครั้งหนึ่ง

          กังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพของแหล่งน้ำ คือใช้เพิ่มปริมาณออกซิเจนลงในน้ำ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากการอุปโภคของประชาชน น้ำเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งใช้เพิ่มปริมาณออกซิเจนในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่าง ๆ รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมอีกด้วย เครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นผลงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับการจดสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 รัฐบาลได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันนักประดิษฐ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเทิดพระเกียรติแล้ว ยังเป็นวันที่ระลึกถึงประวัติศาสตร์ของการจดทะบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ทรงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรชาวไทย และเพื่อเป็นแบบฉบับให้นักประดิษฐ์ไทยได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทให้มีความคิดก้าวไกล

          นอกจากการพัฒนาสภาพดินดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชดำริแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของผิวดินอันเกิดจากการกัดเซาะจากฝน ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ดินพังทลาย ทรงมีพระราชดำริให้ใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีง่าย ๆ เกษตรกรสามารถดำเนินการได้เอง และประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าวิธีอื่น ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำ คือ 1.International Erosion Control Association (IECA) ทูลเกล้าฯ ถวาย The International Erosion Control Associations International Merit Award ในฐานะที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 และ 2. ธนาคารโลกได้ทูลเกล้าฯ ถวายรากหญ้าแฝกชุบสำริด ซึ่งเป็นรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณ (Award of Recognition) ในฐานะที่ทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2536

แหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.thaigoodview.com/knowledge/4145/specialday1910